วันนี้ได้ลองเสริทหาคำว่า หนทางแห่งชีวิต บน Google ดู แล้วก็พบกับบทความอันนี้ ผมอ่านแล้ว รู้สึกดีมากๆ และอยากให้ใครๆ หลายๆ คนที่กำลังคิดทำโน่นทำนี่ คิดอยากจะท้อถอย หรือกำลังพยายามค้นหาหนทางแห่งชีวิตได้ลองอ่านดู เผื่อว่าบทความนี้จะได้เป็นหลักในการปฏิบัิติตนเพื่อจะได้ค้นหาให้เจอความหมายแห่ง หนทางชีวิต
บทความชื่อ หนทางแห่งชีวิต
ทุกคนล้วนแสวงหาหนทางชีวิตที่ดี แต่จะมีสักกี่คนที่ค้นพบทางที่เหมาะสมกับตนเองได้จริง ๆ หรือกว่าจะพบก็หมดเวลาไปค่อนชีวิตแล้ว แต่ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงหนทางการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐสำหรับมนุษย์ไว้อย่างชัดเจน เรียกว่า “มรรค” หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า “อริยมรรคมีองค์ 8” คือหนทางอันประเสริฐที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ 8 อย่าง นั่นคือทาง ๆ เดียว หรือถนนสายเดียว แต่มีองค์ประกอบ 8 อย่าง เหมือนหิน ปูน ทราย ฯลฯ รวมกันอย่างได้สัดส่วนที่พอเหมาะแล้วสำเร็จเป็นถนนหนึ่งสายนั่นเอง ฉะนั้น ต้องผสมรวมคุณธรรมทั้ง 8 ประการนั้นเข้าด้วยกันอย่างพอเหมะได้สัดส่วนที่สมดุลย์ (มัชฌิมาปฏิปทา) จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ หรือส่วนประกอบครบ แต่ว่าผสมไม่สมดุลย์ (พอดี)ก็มิได้ มิฉะนั้น จะไม่สำเร็จเป็นมรรคาชีวิตที่นำไปสู่ความสุขความเจริญ หรือความประเสริฐที่แท้จริงได้ องค์ประกอบ 8 อย่างที่ว่านี้มีอะไรบ้าง มาดูกันตามลำดับ
1.สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ความรู้จักผิดชอบชั่วดีนั่นเอง เบื้องแรกของการดำเนินชีวิตคือเราต้องรู้ก่อนว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควร อะไรไม่ควร เปรียบเสมือนแสงสว่างสาดส่องให้รู้ว่า มีอะไรตรงไหนบ้าง ตรงไหนทาง ตรงไหนมิใช่ทาง ตรงไหนมีอันตราย เป็นต้น จะได้เลือกถูกว่าทางไหนดี ทางไหนเหมาะสมกับตัวเราเองที่สุด จะได้ไม่พลาดพลั้งไปดำเนินในทางที่ผิด
2. สัมมาสังกัปปะ แปลว่า ความดำริชอบ หมายถึง ความนึกคิดในทางไม่หมกมุ่นมัวเมาในสิ่งอกุศล ความนึกคิดในทางไม่ปองร้ายไม่เบียดเบียนใคร คือในแต่ละวันแต่ละเวลาที่มีชีวิตเป็นอยู่นี้ อย่านึกคิดหมกมุ่นอยู่ในอกุศลใด ๆ ให้ระวังจิตระวังความคิด ให้คิดให้นึกให้สนใจอยู่แต่ในสิ่งที่ดีงาม จะได้ไม่ทุกข์ ไม่บาป เมื่อนึกคิดแต่สิ่งดีงามก็จะได้พูดและทำเฉพาะสิ่งที่ดีงามออกไปอันนำไปสู่ชีวิตที่ประเสริฐสืบไป
3. สัมมาวาจา แปลว่า การพูดชอบ หมายถึง ทุกวันเวลาที่ดำเนินอยู่อันจะต้องพบปะเกี่ยวข้องกับผู้คน ถ้าต้องใช้การเจรจาสื่อสาร ก็อย่าได้พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระประโยชน์ ให้พูดแต่คำจริง ไพเราะอ่อนหวาน ประสานสามัคคี มีสาระ เพราะเวลาของชีวิตนั้นมีค่า อย่าเอาไปพล่าผลาญด้วยการเจรจาที่ไม่ดีไม่มีสาระ ให้เจรจาเท่าที่จำเป็นและเจรจาแต่สิ่งมีสาระด้วยคำพูดที่ดีงาม
4. สัมมากัมมันตะ แปลว่า กระทำชอบ เมื่อกล่าวถึงความเห็น ความคิด และการพูดจาไปแล้ว ข้อนี้ก็มากล่าวถึงการกระทำกันบ้าง คือทุกวันทุกเวลาอีกเช่นกัน ก็อย่าทำความผิดความชั่วโดยประการใด ๆ ให้ทำแต่สิ่งที่ดีงามเท่านั้น ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เห็นได้ชัดว่า ชีวิตที่ดำเนินอยู่นี้ต้องเป็นชีวิตที่ดีแน่ ๆ เพราะไม่ประกอบกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจเลย ทำแต่ความดีล้วน ๆ นี่แลมรรคาชีวิตที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ไว้ให้เหล่ามนุษย์ดำเนินไป
5. สัมมาอาชีวะ แปลว่า การเลี้ยงชีพชอบ ซึ่งก็คือการประกอบสัมมาชีพนั่นเอง หมายถึงการประกอบอาชีพที่ไม่ผิดศีลผิดธรรมและไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองด้วย ดำเนินงานอย่างถูกต้องดีงาม ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำผิดทำชั่วต่อใคร ๆ ด้วยอาชีพนั้น เห็นไหมว่า ในอริยมรรคก็มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการประกอบอาชีพไว้ด้วย ฉะนั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า อริยมรรคมิได้จำกัดผู้ปฏิบัติตามว่าต้องเป็นภิกษุเท่านั้น แต่เป็นมรรคาของมนุษย์ทุกคนต่างหาก
6. สัมมาวายามะ แปลว่า ความเพียรชอบ คือการดำเนินชีวิตนั้นต้องมีความเพียร หากไม่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นตัวขับดัน ชีวิตก็ไม่คืบหน้าไปตามมรรคา และต้องเพียรให้ถูกทิศทางด้วยคือเพียรละอกุศลใด ๆ ทั้งปวงให้มากที่สุด และเพียรสร้างกุศลสิ่งดี ๆ แก่ชีวิตให้มากที่สุดในชีวิต (ชาติ)หนึ่ง ๆ ที่เกิดมานี้
7. สัมมาสติ แปลว่า ความระลึกชอบ เข้าใจง่าย ๆ คือ มีสติอยู่เสมอนั่นเอง การดำเนินชีวิตนั้นอย่าได้เผลอไปทำผิดคิดชั่ว เหมือนการขับรถไปบนถนน ถ้าเผลอเมื่อไรก็เกิดอุบัติหรือตกถนนได้เมื่อนั้น ก็เลยไปไม่ถึงจุดหมายกันเสียที การดำเนินชีวิตนั้นทุกสิ่งที่ทำทุกคำที่พูด จะต้องมีสติสัมปชัญญะรักษากาย วาจา จิตให้อยู่ในทำนองคลองธรรม (มรรคา) เผลอสติเมื่อไรก็ตกถนนหรือเกิดเหตุไม่ดีกับตนบนถนนชีวิต (มรรคา)ได้
8. สัมมาสมาธิ แปลว่า ความตั้งจิตมั่นชอบ การดำเนินชีวิต (เผชิญปัญหา) ต้องมีใจที่สงบมั่นคง ถ้าใจไม่สงบจิตฟุ้งซ่านสับสน ชีวิตก็ซัดส่าย ก็เหมือนกับการขับรถ นอกจากมีสติแล้ว ยังต้องมีสมาธิที่มั่นคงขณะขับด้วย ถ้าสมาธิดี ก็ส่งเสริมกำลังให้สติสัมปชัญญะมีความเหนียวแน่นมั่นคงตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่า คุณธรรมทั้ง 8 นั้นเป็นองค์ประกอบกัน ผลักดันส่งเสริมและควบคุมกัน ก็เหมือนกับการขับรถอีกนั่นแล อุปกรณ์ต่าง ๆ ของรถรวมถึงคนขับต้องอยู่ในสภาพที่ดีและสอดประสานการทำงานกันอย่างเหมาะเจาะ (และเคลื่อนที่ไปพร้อมกัน จะเคลื่อนไปเฉพาะบางชิ้นส่วนไม่ได้) จึงจะพุ่งทะยานไปบนถนนอย่างรวดเร็วและมีสวัสดิภาพ โดยไม่มีอุบัติเหตุบนท้องถนน และไม่หลงไปทางผิด หรือตกออกนอกถนนชีวิต และขอย้ำเป็นสำคัญยิ่ง คือองค์ประกอบทั้ง 8 ต้องครบถ้วนและได้สมดุลย์ (มิฉะนั้นจะเสียศูนย์ถ่วงและเสียหลัก) ดังจะเห็นได้ว่า ชาวไทยปัจจุบันที่เร่งปฏิบัติธรรม (เร่งเครื่องชีวิตไปบนมรรคา) เพื่อให้เข้าสู่มรรคผล จะเน้นที่คุณธรรมบางข้อของมรรค 8 นี้เท่านั้น โดยเฉพาะข้อที่ 8 คือ สมาธิและเน้นที่อิริยาบถนั่งกับเดินแค่นั้น คือนั่งสมาธิและเดินจงกรม โดยเน้นที่การหลีกไปปฏิบัติตามสำนักปฏิบัติต่าง ๆ อีกด้วย เหตุนี้ทำให้มรรคทั้งแปดไม่ได้สมดุลย์กัน สุดท้ายก็เสียศูนย์และสูญเสียจนได้ ผู้คนจึงประณามว่า ปฏิบัติธรรมแล้วไม่เจริญ (ก้าวหน้า) ปฏิบัติธรรมแล้วเพี้ยน (เพราะเสียศูนย์ แล้วหลุดออกจากมรรคา) ยิ่งเร่งปฏิบัติ (เร่งความเพียร-วายามะ) ยิ่งทะยานออกนอกทาง (เพราะไม่สมดุลย์) และไปไม่ถึงเป้าหมายคือนิพพาน (ความสุข สงบ ดับกิเลส ความเร่าร้อนต่าง ๆ )
ฉะนั้น ถ้าต้องการเร่งปฏิบัติให้บำเพ็ญมรรคทั้ง 8 พร้อม ๆ กันอย่างได้สัดส่วนสมดุลย์ อย่าหลีกออกจากชีวิตจริง ไม่ต้องทิ้งอาชีพการงาน (อาชีวะ) แต่ทำการงานให้ดียิ่งขึ้น (สัมมาอาชีวะ) เอาสมาธิที่ฝึกนั้นไปใช้กับกิจทั้งปวงในชีวิต (สัมมาสมาธิ) อย่างมีสติสัมปัชชัญญะ (สัมมาสติ) อย่าทำชั่ว (สัมมากัมมันตะ) อย่าพูดชั่ว (สัมมาวาจา) มีความเพียรในกิจทั้งปวงของชีวิต (สัมมาวายามะ) ทั้งกิจส่วนตัว ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และกิจหน้าที่ต่อโลกในฐานะมนุษยชาติ (เช่น ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก) มีวิสัยทัศน์ต่อโลก ต่อชีวิตอย่างถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) และคิดนึก ตรึกตรอง ใคร่ครวญ (สนใจ) ในสิ่งที่ดีงามเสมอ (สัมมาสังกัปปะ) อย่าสนใจสิ่งชั่ว สิ่งมัวเมา ดังนี้ ชีวิตจึงจะเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองเป็นมรรคาแห่งความสุข ความสำเร็จ และถึง จุดหมายของชีวิตอย่างถูกทิศถูกทาง (จุดหมายย่อยตามมรรคาของแต่ละภพชาติ) และบำเพ็ญให้ต่อเนื่องทุกภพชาติ ก็จะถึงปลายทางของมรรคา (นิพพาน)ได้อย่างรวดเร็วในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น